สนับสนุน Pride Month อย่างไร ไม่ให้สร้างบาดแผลต่อเพศหลากหลาย - ว่าด้วยธุรกิจ Rainbow Washing แบบฉาบฉวยที่สังคมต้องเรียนรู้มากขึ้น
ท่ามกลางบรรยากาศในการเรียกร้องความเท่าเทียมในช่วงที่ผ่านมา พบว่าสังคมเริ่มตระหนักรู้ต่อความหลากหลายทางเพศ (LQBTQIAN+) มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อสังคมนัก เพราะในปัจจุบันนี้ยังมีการกีดกันทางเพศและยังมีอคติต่อคนกลุ่มนี้อยู่ เนื่องในโอกาส Pride Month ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของเพศหลากหลากหลาย สังคมจึงควรสนับสนุนพวกเขา เพราะพวกเขาต่อสู้กับอคติทางเพศผ่านจากการเลือกปฏิบัติทางสังคมหลายศตวรรษ เพื่อให้สังคมดำเนินไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียงกัน จึงสำคัญมากที่จะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และควรทำความเข้าใจพวกเขาอย่างซื่อตรง ดังนั้น ทาง NEO LIFE MEDIA จะมาอธิบายนิยามเรื่อง Rainbow Washing และธุรกิจจะส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอย่างไร ไม่ให้ฉาบฉวย และไม่สร้างบาดแผลให้กับเพศหลากหลาย
Rainbow Washing คือการทำธุรกิจที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศแบบฉาบฉวย โดยธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้เข้าใจความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ได้สนับสนุนอย่างจริง ๆ จัง ๆ หรือนำการเฉลิมฉลองความเท่าเทียมทางเพศเป็นเพียงการตลาดเท่านั้น แม้เจตนาของผู้ดำเนินกิจการอาจไม่มีจุดประสงค์ร้ายนัก แต่มันคือการสร้างบาดแผลต่อเพศหลากหลายแบบไม่รู้ตัว เพราะไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็นหรือเผชิญอยู่ กลับกัน กลับนำอัตลักษณ์ของพวกเขามาสร้างประโยชน์และจุดขาย ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่พวกเขาเผชิญมาทั้งชีวิตคืออคติและความเกลียดชัง โดยที่เขาไม่ได้กระทำความผิดอะไร จึงเป็นเหตุผลที่ว่า การไม่ทำความเข้าใจพวกเขาอย่างเพียงพอนั้นเหมือนเงาสะท้อนสิ่งที่พวกเขาเคยประสบมาทั้งชีวิต หากจะสนับสนุนความหลากหลายทางเพศผ่านธุรกิจที่ทำมา การสนับสนุนอย่างผิวเผินอาจไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องเข้าใจ และสนับสนุนความเท่าเทียมอย่างตรงไปตรงมา
วิธีการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศผ่านธุรกิจนั้นไม่ยากอย่างที่คิด ไม่ใช่แค่คำพูดเพียงเท่านั้น แต่จะต้องเน้นในแง่ของการกระทำด้วย ยกตัวอย่าง:
1. ทำให้เห็นถึงพื้นที่ปลอดภัย (Safe Space) ทั้งในแง่ของทางธุรกิจเอง และในแง่ของลูกค้า ยกตัวอย่าง ละเว้นคำพูดที่สร้างความระแคะระคายใจทางเพศ เช่น มุกเหยียดเพศ คำพูดสร้างอคติ สร้างความเกลียดชังหรือสร้างความไม่เท่าเทียมทางเพศ สร้างบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความอับอายในแง่อัตลักษณ์ทางเพศ
2. สนับสนุนสวัสดิการความเท่าเทียมทางเพศ เช่น สวัสดิการการผ่าตัดแปลงเพศ สวัสดิการคู่รักเพศหลากหลายสามารถกู้ซื้อบ้านร่วมกันได้ เนื่องจากสังคมมักจะมองว่าการแปลงเพศนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ หรือยังมีอคติทางเพศจากค่านิยมที่ว่า “คู่รักเพศหลากหลายรักกันไม่ยั่งยืน” จึงไม่จำเป็นต้องสร้างครอบครัวร่วมกัน ทำให้เกย์ เลสเบี้ยน และคู่เพศหลากหลายอีกมากไม่สามารถมีสิทธิ์ร่วมกันได้ เพราะสังคมยังมีอคติและมองความสัมพันธ์พวกเขาต่างไปจากคู่รักชายหญิงตรงเพศ ทั้ง ๆ ที่คู่รักชายหญิงตรงเพศต่างเลิกราได้ไม่ต่างกัน โดยพบว่า พนักงานเพศหลากหลาย 67.5% เคยได้รับการแสดงความความคิดเห็นเชิงลบ คำสบประมาท หรือมุกเหยียดเพศในที่ทำงาน
3. นำรายได้ส่วนหนึ่งจากธุรกิจมาสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIAN+ Community เช่น องค์กรที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศโดยตรง เพื่อช่วยสนับสนุนสังคมเพศหลากหลายมากขึ้น
4. พนักงานทุกเพศมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน เช่น ไม่กีดกันเพศจากการทำงาน บางบริษัทไม่รับทรานส์เข้าทำงาน เพราะภาพลักษณ์ดูไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่ได้สนับสนุนทรานส์หรือเพศหลากหลายในการดำรงตำแหน่งสำคัญ เพียงเพราะอคติทางเพศ โดยพบว่า 46% ของพนักงานเพศหลากหลายเคยมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติ (การปฏิบัติตัวแบบไม่เป็นธรรม - Unfair Treatment)
ยกตัวอย่างบริษัทที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ แบบที่ไม่ใช่ Rainbow Washing แบบฉาบฉวย:
บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังจากประเทศไทยที่มีสวัสดิการผ่าตัดแปลงเพศสูงสุด 1 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทางบริษัทใส่ใจคุณภาพชีวิตของพนักงานทรานส์ทีเดียว
บริษัท แสนสิริ จำกัด มีสวัสดิการให้พนักงานเพศหลากหลายลาแต่งงานได้ 7 วัน และคู่รักเพศหลากหลายสามารถกู้ซื้อบ้านร่วมกันในโครงการแสนสิริได้ เพราะที่ผ่านมา การกู้ซื้อบ้านร่วมกันโดยส่วนมากนั้นจำกัดแค่คู่รักชายหญิงตรงเพศเท่านั้น
บริษัทรองเท้าชื่อดัง Nike (ไนกี้) ที่ขายรองเท้ารุ่น Be True แล้วนำรายได้ทั้งหมด 625,000 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 21 ล้านบาท) ไปบริจาคต่อกลุ่ม LGBTQIAN+ ในช่วงปีพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา
ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศที่ดีนั้น ไม่ใช่คำพูดหรือการกระทำที่ฉาบฉวย หรือเน้นการตลาดเพียงอย่างเดียว แต่สนับสนุนกลุ่ม LGBTQIAN+ อย่างจริงจัง ซื่อตรง และชัดเจน
コメント